หลักกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ คือไม่ฆ่าสัตว์ นับตั้งแต่ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าสัตว์ ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่นๆ
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนรู้จักแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง และตนก็ต้องรับผลกรรมต่อไป และต้องคอยหวาดระแวงว่า ญาติพี่น้องเขาจะมาทำร้ายตอบ เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งจะสร้างปัญหาอื่นๆ ต่อมาโดยไม่จบสิ้น
๒. เว้นจากการลักทรัพย์ คือไม่แสวงหาทรัพย์มาโดยทางทุจริต เช่น
ลัก = ขโมยเอาลับหลัง
ฉก = ชิงเอาซึ่งหน้า
กรรโชก = ขู่เอา
ปล้น = รวมหัวกันแย่งเอา
ตู่ = เถียงเอา
ฉ้อ = โกงเอา
หลอก = ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์
ลวง = เบี่ยงบ่ายลวงเขา
ปลอม = ทำของที่ไม่จริง
ตระบัด = ปฏิเสธ
เบียดบัง = ซุกซ่อนเอาบางส่วน
สับเปลี่ยน = แอบเปลี่ยนของ
ลักลอบ = แอบนำเข้าหรือออก
ยักยอก = เบียดบังเอาของในหน้าที่ตน
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม ไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน
๓. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือไม่กระทำผิดในทางเพศ ไม่ลุอำนาจแก่ความกำหนัด เช่น การเป็นชู้กับสามีภรรยาคนอื่น การข่มขืน การฉุดคร่าอนาจาร
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีจิตใจสูง เคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
๔. เว้นจากการพูดเท็จ คือต้องไม่เจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อรวม ๗ วิธีด้วยกัน คือ
พูดปด = โกหกซึ่งๆ หน้า
ทนสาบาน = อ้างสิ่งต่างๆ ทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อ
ทำเล่ห์กระเท่ห์ = ทำกลอุบายหรือเงื่อนงำอันอาจทำให้คนอื่นหลงเข้าใจผิด
มารยา = เช่น เจ็บน้อยทำเป็นเจ็บมาก
ทำเลศ = ทำทีให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง
เสริมความ = เรื่องนิดเดียวทำให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่
อำความ = เรื่องใหญ่ปิดบังไว้ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย
การเว้นจากพูดเท็จต่างๆ เหล่านี้ หมายถึง
- ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งตน กลัวภัยจะมาถึงตนจึงโกหก
- ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น รักเขาอยากให้เขาได้ ประโยชน์จึงโกหก หรือเพราะเกลียดเขา อยากให้เขาเสียประโยชน์จึงโกหก
- ไม่ยอมพูดเท็จเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง เช่น อยากได้ทรัพย์สินเงินทองสิ่งของ จึงโกหก
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริง กล้าเผชิญหน้ากับความจริงเยี่ยงสุภาพชน ไม่หนีปัญหา หรือหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการพูดเท็จ
๕. เว้นจากการพูดส่อเสียด คือไม่เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะยุแหย่ให้เขาแตกกัน ควรกล่าวแต่ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการไม่ให้คนเราหาความชอบด้วยการประจบสอพลอ ไม่เป็นบ่างช่างยุ ต้องการให้หมู่คณะสงบสุขสามัคคี
๖. เว้นจากการพูดคำหยาบ คือไม่พูดคำซึ่งทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ ได้แก่
คำด่า = พูดเผ็ดร้อน แทงหัวใจ พูดกดให้ต่ำ
คำประชด = พูดกระแทกแดกดัน
คำกระทบ = พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อได้คิด
คำแดกดัน = พูดกระแทกกระทั้น
คำสบถ = พูดแช่งชักหักกระดูก
คำหยาบโลน = พูดคำที่สังคมรังเกียจ
คำอาฆาต = พูดให้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
๗. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดพล่อยๆ สักแต่ ว่ามีปากอยากพูดก็พูดไปหาสาระมิได้ แต่พูดถ้อยคำที่มีสาระ มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน
๘. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของคนอื่นในทางทุจริต
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเราเคารพในสิทธิข้าวของของผู้อื่น มีจิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่านไหวกระเพื่อมไปเพราะความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้มีใจผ่องแผ้ว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
๙. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา คือไม่ผูกใจเจ็บ ไม่คิดอาฆาตล้างแค้น ไม่จองเวร มีใจเบิกบาน แจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่เกลือกกลั้วด้วยโทสะจริต
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรารู้จักให้อภัยทาน ไม่คิดทำลาย ทำให้จิตใจสงบผ่องแผ้ว เกิดความคิดสร้างสรรค์
๑๐. ไม่เห็นผิดจากคลองธรรม คือไม่คิดแย้งกับหลักธรรม เช่น มีความเห็นที่เป็น สัมมาทิฏฐิพื้นฐาน ๘ ประการ คือ
๑. เห็นว่าการให้ทานดีจริง ควรทำ
๒. เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง ควรทำ
๓. เห็นว่าการต้อนรับแขกมีผล ควรทำ
๔. เห็นว่าผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง
๕. เห็นว่าโลกนี้โลกหน้ามีจริง
๖. เห็นว่าบิดามารดามีพระคุณต่อเราจริง
๗. เห็นว่าสัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีจริง (นรกสวรรค์มีจริง)
๘. เห็นว่าสมณพราหมณ์ที่หมดกิเลสแล้วมีจริง
หมายเหตุ ข้อ ๕ อาจแยกเป็น โลกนี้มีจริง ๑- โลกหน้ามีจริง ๑
ข้อ ๖ อาจแยกเป็น บิดามีพระคุณจริง ๑ มารดามีพระคุณจริง ๑
ซึ่งถ้าแยกแบบนี้ก็จะรวมได้เป็น ๑๐- ข้อ แต่เนื้อหาเหมือนกัน
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรามีพื้นใจดี มีมาตรฐานความคิดที่ถูกต้อง ยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง มีวินิจฉัยถูก มีหลักการ มีแนวความคิดที่ถูกต้อง ส่งผลให้ความคิดในเรื่องอื่น ถูกต้องตามไปด้วย
"เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพิ่มพูนไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย" องฺ. เอก. ๒๐/๑๘๒/๔๐
คุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ คนทุกคนจำเป็นต้องฝึกให้มีในตน โดยเฉพาะผู้นำ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม จะต้องฝึกให้มีในตนอย่างเต็มที่ จึงจะทำงานได้ผลดี
"ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม บุคคลใดหวังความสุข หวังความ
ประพฤติดีด้วยกาย 3 ประเภท
ประพฤติดีด้วยกาย นั้นชื่อว่า กายกรรม คือ ทำกิจการงานด้วยกายอย่าให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น กายกรรมที่ให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น มี 3 ประการ
1. คือ อย่าเบียดเบียนร่างกายของท่าน คือ อย่าฆ่า อย่าฟัน อย่าทุบ อย่าตี ร่างกายของท่านผู้อื่นโดยที่สุด เว้นถึงสัตว์ติรัจฉานได้ยิ่งเป็นการดี ตรงภาษาบาลีที่ว่า ปาณาติปาตาเวรมณี ฯ
2. คือ อย่าเบียดเบียนทรัพย์สมบัติข้าวของของท่านผู้อื่น คืออย่าลักขโมย อย่าฉ้อโกง อย่าเบียดบังเอาข้าวของของท่านผู้อื่น ตรงภาษาบาลที่ว่า อทินฺนาทานาเวรมณี ฯ
3. คือ อย่าแย่งชิงลักลอบด้วยอำนาจของกายในหญิงที่ท่านหวงห้าม ตรงภาษาบาลีที่ว่า กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณีฯ
ประพฤติดีด้วยวาจา 4 ประเภท
ประพฤติดีด้วยวาจา 4 ประเภท (วจีกรรม 4 ประเภท) นั้นได้แก่
1. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำที่สัตย์ที่จริง ให้เว้นจากวาจาที่เท็จไม่จริงเสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า มุสาวาทาเวรมณี ฯ
2. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำอันสมานประสานสามัคคีให้ท่านดีต่อกัน ให้เว้นวาจาส่อเสียดยุยงเสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ปิสุณายาวาจาเวรมณีฯ
3. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำอันอ่อนโยน ให้เกิดความยินดีแก่ผู้ฟัง ให้งดเว้นวาจาที่หยาบคายขึ้นกูขึ้นมึง บริภาษตัดพ้อหยาบๆ คายๆ ให้ผู้ฟังได้รับความเดือดร้อนต่างๆ เสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ผรุสฺสายวาจายเวรมณี ฯ
4. คือ ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์ ให้เว้นวาจาที่เหลวไหล คือพูดเล่นหาประโยชน์มิได้เสีย ตรงกับภาษาลีที่ว่า สมฺผปฺปลาปาวาจายเวรมณี ฯ
ประพฤติดีด้วยใจ 3 ประเภท
ประพฤติดีด้วยใจ 3 ประเภท (มโนกรรม 3 ประเภท) นั้นคือ
1. คือ ให้ระวังเจตนากรรม ให้สัมประยุตต์ด้วยเมตตาอยู่เสมอ คือ ความดำริของใจ อย่าให้ลุอำนาจแห่งโลภะ คืออย่าเพ่งเอากิเลสกามและวัตถุกามของท่านผู้อื่น อันไม่สมควรแก่ฐานะของตน ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อนภิชฺฌา โหติฯ
2. คือ ให้ระวังเจตนากรรมให้สัมประยุตต์ด้วยกรุณาอยู่ทุกเมื่อ อย่าให้โทสะ พยาบาท เข้าครอบงำได้ ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อพฺพยาปาโท โหติฯ
3. คือ ให้ระวังเจตนากรรมให้สัมประยุตต์ด้วย มุทิตา อุเบกขา อยู่ทุกเมื่อ อย่าให้ไหลไปในทางผิด ให้เห็นตรงตามคลองธรรมทั้ง 10 นี้อยู่ทุกเมื่อ ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า สมฺมทิฎฺฐิโก โหติฯ
อกุศลกรรมบถ แปลตามตัวได้ว่าทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล คือ การกระทำอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี ๑๐ อย่าง แยกได้เป็น 3 หมวด คือ
กายกรรม 3 ได้แก่
1. ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์)
2. อทินนาทาน (การลักทรัพย์)
3. กาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดทางกาม)
ทั้ง 3 ข้อนี้ ดูรายละเอียดปลีกย่อยได้ที่หมวดศีล เรื่องรายละเอียดของศีล 5 (1) ถึง (3) ตามลำดับ
วจีกรรม 4 ได้แก่
วจีกรรม 4 ได้แก่
1. มุสาวาท (การพูดปด พูดเท็จ โกหก หลอกลวง)
2. ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด คือพูดยุยงให้เขาแตกแยกกัน)
3. ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ)
4. สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)
ทั้ง 4 ข้อนี้ ดูรายละเอียดปลีกย่อยได้ที่หมวดศีล เรื่องรายละเอียดของศีล 5 (4)
มโนกรรม 3 ได้แก่
มโนกรรม 3 ได้แก่
1. อภิชฌา (ละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน อย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม เป็นโลภะ (ความโลภ) ขั้นรุนแรง)
2. พยาบาท (คิดร้าย ปองร้าย มุ่งร้ายต่อผู้อื่น มีความปรารถนาที่จะทำลายประโยชน์ และความสุขของผู้อื่นให้เสียหายไป เป็นโทสะ (ความโกรธ) ขั้นรุนแรง)
3. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มีบุญคุณ ไม่เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ไม่เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ฯลฯ เป็นโมหะ (ความหลง - ไม่รู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง) ขั้นรุนแรง)
ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นกรรมที่เกิดขึ้นในใจ คือในทางความคิด ถ้าเมื่อใดมีกำลังที่มากพอ หรือมีโอกาสที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เกิดการกระทำทางกาย หรือทางวาจาออกมา ซึ่งการกระทำเหล่านั้นก็อาจจะเข้าข่ายกายกรรม 3 ที่เป็นทุจริต หรือ วจีกรรม 4 ที่เป็นทุจริต ข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อก็ได้
อ้างอิง
http://watpanonvivek.com/index.php?option=com_content&view=article&id=2915:-10&catid=56:2010-03-18-02-00-38http://www.sati99.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&Category=sati99com&thispage=1&No=163088
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น